คนไทยติดอินเตอร์เน็ตแค่ไหน?


ปัจจุบันนี้คนไทยใช้อินเตอร์เน็ต 45 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือ 6.4 ชั่วโมง/วัน โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต มากที่สุดคือ สมาร์ตโฟน 85.5% ซึ่งใช้งานเฉลี่ย 6.2 ชั่วโมง/วัน โดยส่วนใหญ่เวลากับการเข้าชมสื่อ Social Network  ซึ่งมีถึง 96.1% ตามมาด้วย ดูวิดีโอใน YouTube ดังนั้นนับวันบทบาทของสื่ออินเตอร์เน็ตบนมือถือนั้นจะมีมากเพิ่มขึ้น เพราะสื่อทั้งหลายในตอนนี้พร้อมส่งคอนเท้นต์ หรือ ข้อมูลตนเองไปถึงหน้าจอมือถือ ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่ามือถือแบบสมาร์ทโฟนช่วยให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลได้อย่าง รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา  เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้คนวันนี้  รูปแบบชีวิตเดิมๆ ที่เราจะเดินทางมองวิวทิวทัศน์รอบข้าง ดื่มด่ำบรรยากาศ แล้วมาหนังอ่านข่าวสารที่โต๊ะทำงานภายหลังเริ่มหมดไป ทุกคนต่างก้มหน้าก้มตาเสพสื่อบนมือถือตลอดเวลา

แม้ว่าเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียที่ควรคำนึงถึง หากเราใช้มันด้วยความประมาทและไม่สร้างสรรค์ในการใช้ข้อมูลซึ่งอาจแฝงภัยร้ายมาด้วย  อย่างเช่น  เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม  การละเมิดลิขสิทธิ์ การโจมตี และ เจาะระบบเครือข่ายด้วยไวรัสคอมพิวเตอร์


นอกจากนี้การใช้เวลาบนอินเตอร์เน็ตมากเกินไป  อาจส่งผลต่อร่างกายและการพัฒนาในด้านสังคม  ในภาวะการเสพติดอินเทอร์เน็ตนี้ยังไม่ได้ถูกจำแนกอย่างเป็นทางการในเรื่องความผิดปกติทางจิต แต่นักพฤติกรรมบำบัดมองว่าโรคติดอินเตอร์เน็ตนั้นเกิดจากเหตุที่ผู้เสพติดขาดการยับยั่งใจ เช่นเดียวกับ ผู้ที่ติดสารเสพติดและ ผู้ที่เสพติดการพนัน ผู้ติดการพนันมักจะถูกชักจูงโดยความตื่นเต้นเร้าใจจากการชนะพนันมากกว่าเงินรางวัลที่ได้  ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ยากจะหักห้ามใจได้

และสำหรับผู้มีภาวะการเสพติดอินเทอร์เน็ตก็เป็นเช่นกัน แต่ความตื่นเต้นนั้นมาจากรางวัลในเชิงสังคมซึ่งมีหลายรูปแบบ อาทิ กรณีของผู้ติดเกมออนไลน์ พวกเขาชอบความรู้สึกที่ตนเองได้ทำภารกิจสำเร็จ ชอบภาพที่มีสีสันในเกม และชอบความท้าทายต่างๆที่พวกเขาเจอในเกม เหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมานั้น คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่มีภาวะติดเกมออนไลน์สามารถจดจ่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ได้เป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน นอกจากนี้ พวกเขาอาจจะสร้างสังคมออนไลน์ที่เชื่อมโยงพวกเขากับคนที่ติดเกมเข้าด้วยกันเพื่อเล่นเกมออนไลน์เป็นทีม


ข้อควรระวังผู้ที่มีภาวะการเสพติดอินเทอร์เน็ตมีความต้องการการตอบสนองอย่างทันทีเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขามักจะตั้งความหวังที่ไม่สมเหตุสมผลกับตัวเองและผู้อื่น นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะการเสพติดอินเทอร์เน็ต มีพฤติกรรมติดการแชร์ทุกเรื่องในชีวิตบนโลกโซเชียลมีเดีย จนสูญเสียความสามารถในการหาความสุขจากสิ่งรอบตัวในชีวิตจริง อีกทั้งพฤติกรรมการติดตามชีวิตคนอื่นจนเสพติดก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองถูกละเลย เปรียบเทียบ และอิจฉาริษยาได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมทางลบ เช่น การทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น

นอกจากนี้การเสพติดอินเทอร์เน็ตถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสาร เพราะแทนที่เราจะใช้เวลาและพูดคุยกับคนที่เรารัก แต่เราอาจจะใช้วิธีการสื่อสารที่เป็นส่วนตัวน้อยลง เช่น การส่งข้อความ ถึงแม้การสื่อสารโดยใช้วิธีการออนไลน์นั้นไม่ถือเป็นสิ่งที่ผิด แต่วิธีการนี้จะไร้อารมณ์และน้ำเสียงที่แท้จริง และในระยะยาว มันทำให้ผู้ติดอินเทอร์เน็ตลืมวิธีสื่อสารกับผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ที่มีภาวะการเสพติดอินเทอร์เน็ตถอยตัวเองออกจากสังคม แม้กระทั่งยุติความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง

ดังนั้นการรู้เท่าทันสื่อ ด้วยการความรู้ ความเข้าใจ เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้บริโภคสื่อโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในการเปิดรับเนื้อหาผ่านสื่อในเชิงวิเคราะห์วิพากษ์  การร่วมชี้แนะของผู้ปกครอง ในข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่มากมายบนอินเตอร์เน็ต รวมถึงการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาความคิดของเด็กผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์และสื่อต่างๆ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการรู้จักเลือกใช้สื่ออินเตอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และสังคมรอบข้าง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

1 วันเที่ยวแดนอารยธรรมเขวาสินรินทร์

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลแม่สุก

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อพ่อหลวงทต.หนองใหญ่