ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลบ้านผือจังหวัดหนองคาย

แหล่งเรียนรู้เชื่อมภูมิปัญญาสู่โลกออนไลน์





ตำบลบ้านผือ เป็นตำบลในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย มีระยะห่างจากตัวอำเภอประมาณ 17 กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพ ทำนา เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2559 ชุมชนตำบลบ้านผือ ได้จัดเวทีประชาคมชุมชนขึ้น เพื่อหารือและลงความเห็นร่วมกันในการขอรับการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ICT ชุมชนตำบลบ้านผือ (ชื่อเดิม) ด้วยเห็นถึงประโยชน์ที่จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน จึงเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดตั้งศูนย์ฯ ณ ทำเลที่ตั้งมีความเหมาะสม ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ทำให้สะดวกต่อการเข้ามาศึกษาหาความรู้ จึงได้เลือกโรงเรียนบ้านผือ และเมื่อได้รับการจัดสรรจากกระทรวงไอซีที (เดิม) ก็ได้เปิดให้บริการแก่คนในชุมชนตั้งแต่นั้นมา ในชื่อศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนตำบลบ้านผือ มีเด็กนักเรียนเข้ามาใช้งานเป็นประจำทั้งวันธรรมดาและวันหยุด โดยมีคุณสมพงษ์ ปราบศัตรู ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านผือและผู้อำนวยการศูนย์ฯ และคุณครูกุลธิดา มานะดี เป็นผู้ดูแลศูนย์ฯ

ภารกิจของศูนย์ฯ นอกจากจะมีไว้เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน แล้วยังได้ให้บริการแก่ประชาชน โดยจัดอบรม หลักสูตรความรู้เกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้น การใช้แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน การตกแต่งภาพกราฟฟิคโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยงแนะนำการใช้งานและแก้ไขปัญหาเบื้องต้น พร้อมทั้งให้บริการพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับการทำงานร่วมกันของชุมชน และบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตได้ฟรี รวมถึงสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย (WiFi) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครหรือผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีดูแลให้คำแนะนำ  ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะเนื้อหาด้านอาชีพ เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้มีการเข้าร่วมกิจกรรมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนาผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน การพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน การอบรมหลักสูตรผู้จัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชน การอบรมเชิงปฏิบัติการ วิทยากรแกนนำ E-Commerce ชุมชน รวมทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ใกล้บ้าน  เพื่อนำความรู้ที่ได้รับเหล่านั้น มาขยายผล โดยการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งนับรวมแล้วกว่า 19 โครงการ 336 คน ที่ศูนย์ได้ดำเนินการและอบรมถ่ายทอดความรู้แก่คนในชุมชน

จากการดำเนินงานของศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลบ้านผือ ก่อให้เกิดผลงานเชิงประจักษ์มากมาย อย่างเช่นการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ ที่สามารถช่วยกลุ่มแม่บ้านหรือผู้ปกครองซึ่งประกอบอาชีพอยู่ในชุมชน โพสต์ขายสินค้า ฝึกการเป็นนักธุรกิจรุ่นเยาว์ ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการเริ่มต้นจากเด็กๆที่เป็นพลังสำคัญในอนาคต โดยเป็นพื้นที่ให้เด็กได้ฝึกฝนและเรียนรู้

นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังได้สนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจชุมชนให้มีโอกาสและมีตลาดเพิ่มมากขึ้นจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและตลาดออนไลน์ โดยได้ดำเนินการเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่ไปสำรวจในชุมชนว่ามีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดบ้างที่สามารถนำประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตมาช่วยในการสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นอาชีพเสริมได้ จึงได้รวบรวมสินค้าเข้าสู่ระบบร้านค้าออนไลน์ ซึ่งสามารถค้าขายได้จริง จำนวน 6 ร้านค้า

ตัวอย่างของสินค้าที่ประสบความสำเร็จจากการที่ศูนย์ฯ ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมสนับสนุนได้แก่ กลุ่มแม่บ้านทอเสื่อปิกนิก ที่มีสมาชิกกว่า ๔๐ คน มีผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นอย่างเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกก มาสานทอให้เป็นผืน สีสันและลวดลายมีความหลากหลาย ได้กลิ่นอายของภาคอีสาน   จากเดิมที่กลุ่มแม่บ้านมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพียงแค่ศูนย์จำหน่ายสินค้าในหมู่บ้านและตามงานต่างๆ ในจังหวัดเท่านั้น แต่หลังจากได้เข้ารับการอบรมจากศูนย์ฯ  ซึ่งมีการสอนความรู้ด้านการค้าออนไลน์แบบครบวงจร ตั้งแต่การค้นหาข้อมูล การสร้างเว็บเพจ การประชาสัมพันธ์ เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์ การส่งของและการสื่อสารกับลูกค้า รวมถึงความรู้ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์  ทำให้กลุ่มแม่บ้านได้นำความรู้ด้านดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำ E-Commerce ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านทางเว็บเพจ สร้างมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ ปัจจุบันมียอดการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นต่างจากยอดขายแบบเดิมเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้มีการถ่ายทอดด้านความรู้และให้คำปรึกษาด้านการทำตลาดออนไลน์ของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง มีการทำงานในเชิงรุกลงพื้นที่เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน เพื่อการสื่อสารอย่างทั่วถึง

นับได้ว่าศูนย์ดิจิทัลชุมชนแห่งนี้ ได้มีส่วนช่วยสร้างประโยชน์แก่ชุมชน ในการเพิ่มโอกาสจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านดิจิทัลให้กับคนในชุมชนในทุกช่วงวัย ให้สามารถเข้าถึงไอซีทีได้ มีการถ่ายทอดความรู้จนชาวบ้านนำไปใช้ให้เกิดประโยชนได้จริง สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน  สอดรับกับโลกในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ละทิ้งชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

1 วันเที่ยวแดนอารยธรรมเขวาสินรินทร์

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลแม่สุก

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อพ่อหลวงทต.หนองใหญ่