ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลแม่สุก

ส่งเสริมเรื่องไอที เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของชาวชุมชน



ตำบลแม่สุก เป็นตำบลหนึ่งใน อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ตามประวัติการก่อตั้งหมู่บ้าน ประชากรในชุมชนเป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากจังหวัดลำปาง ทำให้มีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี คล้ายกับคนลำปาง ส่วนที่มาของชื่อ “แม่สุก” มาจากชื่อต้นสีสุก ต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามลำห้วยเวลาออกดอกจะทำให้หอมไปทั่ว ชาวบ้านเลยตั้งชื่อว่าบ้านสีสุก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบ้านแม่สุก จนถึงทุกวันนี้ สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่สุก เป็นอ่างเก็บน้ำที่สวยงามและยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลแม่สุก ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา  เริ่มดำเนินการให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552  ในระยะแรกมุ่งเน้นการส่งเสริมสร้างโอกาสให้ประชาชนในตำบลแม่สุกและพื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของประชาชน ต่อมาในปี 2553 อุปกรณ์สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกลง ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้ ศูนย์ฯได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น จึงได้จัดให้มีบริการ Free WiFi ในบริเวณศูนย์ฯ เพื่อบริการสำหรับประชาชนที่มีสมาร์ทโฟน ต่อมาภายหลัง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สุก ได้มีการติดตั้งจุดกระจายสัญญาณ  WiFi ไปครบทั้ง 10 หมู่บ้าน และยังได้ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่วัยเด็กให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.แม่สุก โดยร่วมกับศูนย์ดิจิทัลชุมชนจัดทำหลักสูตร "ส่งเสริมพัฒนาการเด็กโดยใช้แท็บเล็ตเป็นสื่อ" พร้อมจัดหาอุปกรณ์แท็บเล็ต จำนวน 20 เครื่องให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลแม่สุกดำเนินการสอนนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ทุกวัน อังคาร-พฤหัสบดี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเมินผล พบว่านักเรียนมีความสนใจในกิจกรรมมากขึ้น และเรียนรู้ได้เร็วกว่าการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ

 ว่าที่ร้อยตรี อนุชา ปัญจขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลชุมชน ตำบลแม่สุก ได้กล่าวถึงแนวทางในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนในชุนชนว่า "นอกจากการวางแผนในการพัฒนาการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในวัยเด็กเล็กแล้ว ศูนย์ฯ วางกรอบการส่งเสริมให้กลุุ่มเป้าหมายต่างๆ ในชุมชน สามารถใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันและต่องานที่รับผิดชอบ" ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมรับการอบรมเป็นจำนวนมาก  จำนวน 50 รุ่น 1251 คน

จากแนวทางการส่งเสริมข้างต้น ส่งผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเช่น อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ได้ใช้แอพพลิเคชั่น Doctor me ช่วยในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นตามหลักวิชาการ และ ในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชนได้ร่วมพัฒนาร้านค้าออนไลน์ร่วมกับผู้ประกอบกิจการในตำบล โดยประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวไปยังคนชุมชนให้ทราบเกี่ยวกับการอบรมของศูนย์ฯ เพื่อผู้ที่สนใจได้มาลงทะเบียนเรียน และลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการ และเสนอแนวคิด ในการพัฒนาสินค้าหรือเพิ่มยอดขาย แล้วนำข้อมูลกลับมาศึกษาเพื่อที่จะได้เปิดอบรม โดยมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยอบเรือนไทย กาแฟฝาแดง ผลิตภัณฑ์ถั่วดาวอินคา กลุ่มสานเส้นพลาสติก

นอกจากนี้ทางศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลแม่สุก ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตลิ้นจี่ตกต่ำ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีเกษตรตำบลแม่สุก ในการจำหน่ายลิ้นจี่พันธ์ุฮงฮวย คุณภาพเกรดพรีเมียม ส่งตรงจากสวนถึงผู้บริโภคทั่วประเทศไทย ในราคากิโลกรัมละ 180 บาท ในขณะที่พ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 35 บาท และทางศูนย์ฯ ได้ช่วยเหลือในการลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยเปิดให้มีบริการรับชำระค่าสาธารณูปโภค การเติมเงินโทรศัพท์ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าธรรมเนียมบริการ แก่ประชาชน โดยมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลแม่สุก   ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นอบรมกับเด็กเล็กและกลุ่มอาชีพเท่านั้น ยังเห็นความสำคัญในการที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปช่วยทั้งด้านการดูและรักษาโรคเบื้องต้นให้กับคนในชุมชน  การส่งเสริมการท่องเที่ยว การใช้เทคโนโลยีเพื่อประสานงาน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของกลุ่มผู้นำและกลุ่มวิชาการ ตลอดจนเปิดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ โดยประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก "ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนตำบลแม่สุก"



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

1 วันเที่ยวแดนอารยธรรมเขวาสินรินทร์

ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อพ่อหลวงทต.หนองใหญ่